ขั้นตอนการทำงาน

ขั้นตอนการทำงาน

ขั้นตอนที่ 1  การจัดเครื่องมือเข้าศูนย์กลางเสาเข็มเจาะ
ปรับตั้ง 3 ขา ให้ได้แนวศูนย์กลางของเสาเข็ม เมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้ว ตอกหลักยึดแท่นเครื่องมือให้แน่น แล้วใช้กระเช้าเจาะนำเป็นรูลึกประมาณ 1.00 เมตร

ขั้นตอนที่ 2  การตอกปลอกเหล็กชั่วคราว

            2.1 ขนาดและความยาวของปลอกเหล็กชั่วคราว
ปลอกเหล็กชั่วคราวจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 ซม 40 ซม 50 ซม 60 ซม เสาเข็มเจาะซึ่งแต่ละท่อนจะมีความยาวประมาณ 1.00 เมตร ต่อกันด้วยระบบเกลียวในการทำงานจะตอกปลอกเหล็กผ่านชั้นดินอ่อน ซึ่งอยู่ด้านบนจนกระทั่งถึงขั้นดินแข็งปานกลาง เพื่อป้องกันการเคลื่อนพังของผนังรูเจาะในขั้นดินอ่อนและป้องกันน้ำ
ใต้ดินไม่ให้ไหลซึมเข้าในรูเจาะอันจะเป็นผลให้คุณภาพของคอนกรีตไม่ดีเท่าที่ควร

            2.2 การควบคุมตำแหน่งให้ถูกต้องและอยู่ในแนวดิ่ง
ในการทำงาน การตอกปลอกเหล็กชั่วคราวลงไปแต่ละท่อนจะมีการตรวจสอบตำแหน่งศูนย์กลางของ เข็มและแนวดิ่งอยู่เสมอ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เข็มเจาะเอียง

            ค่าความเบี่ยงเบนที่ยอมให้

  • ความเบี่ยงเบนแนวราบ 5  เซนติเมตร สำหรับเสาเข็มเดี่ยว
  • ความเบี่ยงเบนแนวราบ 7  เซนติเมตร สำหรับเสาเข็มกลุ่ม
  • ความเบี่ยงเบนแนวดิ่ง   1 : 100  โดยรวม

            ขั้นตอนที่ 3  การเจาะ

            3.1 อุปกรณ์ที่ใช้ในการเจาะ
ในช่วงดินอ่อนจะใช้กระเช้าชนิดมีลิ้นที่ปลายเก็บดินโดยใช้น้ำหนักของตัวมัน เอง เมื่อกระเช้าถูกทิ้งไปในรูเจาะดินจะถูกอัดให้เข้าไปอยู่ในกระเช้าและจะไม่ หลุดออกเพราะมีลิ้นกั้นอยู่ในเวลายกขึ้นมา ทำซ้ำกันเรื่อย ๆ จนดินถูกอัดเต็มกระเช้าจึงนำมาเทออก การเจาะจะดำเนินไปจนกระทั่งถึงขั้นดินแข็งปานกลาง จึงเปลี่ยนมาใช้กระเช้าชนิดไม่มีลิ้นที่ปลายเก็บต่อไปจนได้ความลึกที่ต้องการ

            3.2 การตรวจสอบการเคลื่อนพังของดินในขั้นที่ไม่มีปลอกเหล็กชั่วคราว
ในระหว่างการเจาะเอาดินขึ้น จะหมั่นตรวจสอบว่าผนังดินพังหรือยุบเข้าหรือไม่ โดยดูจากชนิดของดินซึ่งเก็บขึ้นมาควรจะต้องสอดคล้องกับความลึกและคล้ายคลึง กับเข็มตันแรก ๆ ถ้าตรวจพบว่าดินเกิดจากการเคลื่อนพังจะรีบแก้ไขในทันทีโดยตอกปลอกเหล็กชั่ว คราวให้ลึกลงไปอีก

 

            ขั้นตอนที่ 4  การตรวจสอบรูเจาะก่อนใส่เหล็กเสริม

            4.1 การวัดความลึก
โดยวัดจากความยาวของสายสลิงรวมกับความยาวของกระเช้าตักดิน

            4.2 การตรวจสอบก้นหลุม
ใช้สปอร์ตไล้ท์ส่องดูก้นหลุมว่ามีการยุบเข้ามีน้ำซึมหรือไม่     ถ้ามีน้ำซึมที่บริเวณก้นหลุมจะเทคอนกรีตแห้งลงไปประมาณ 50 ซม. และกระทุ้งให้แน่นด้วยตุ้มเหล็ก จากนั้นใช้ปูนทราย 1:1.5 เทลงไปประมาณ 30-50 ซม. ก่อนใส่เหล็ก  (เฉพาะในกรณีที่มีน้ำซึมก้นหลุม)

ขั้นตอนที่ 5  ใส่เหล็กเสริม

            5.1 ชนิดของเหล็กเสริม
ส่วนเหล็กเส้นกลมตาม มอก. 20-2524(R-24 ) ส่วนเหล็กเส้นข้ออ้อยตาม มอก.24-2524 ( SD-30 )

5.2 ขนาดและปริมาณเหล็กเสริม
การต่อเหล็กใช้วิธีต่อทาบไม่น้อยกว่า 40 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางและใช้ลวดผูกเหล็กผูกบิดแน่น
            5.3 การใส่เหล็กเสริม
หย่อนกรงเหล็กให้อยู่ตรงกลางของรูเจาะจนถึงระดับที่ต้องการ และยึดให้แน่นหนาเพื่อที่ขณะเทคอนกรีตกรงเหล็กจะไม่ขยับเขยื้อน

ขั้นตอนที่ 6  การเทคอนกรีต

            6.1 ชนิดของคอนกรีต
คอนกรีตที่ใช้เป็นคอนกรีตผสมหน้างาน หรือคอนกรีตผสมเสร็จ ( READY MIX ) มีกำลังอัดประลัยที่ 28 วัน เมื่อทดสอบโดยแท่งทรงกระบอกขนาด 15 x 30 ซม. ( cylinder ) ไม่น้อยกว่า 210 กก/ซม3  ซีเมนต์ที่ใช้เป็นซีเมนต์ปอร์มแลนด์ ประเภท 1 และใช้ความยุบของคอนกรีตประมาณ 8-12 ซม. เพื่อให้คอนกรีตเกิดการอัดแน่นด้วยตัวเองเมื่อเทลงรูเจาะไปแล้ว

            6.2 วิธีเทคอนกรีต
เมื่อรูเจาะได้รับการตรวจสอบและอนุมัติให้เทคอนกรีตได้ จะรีบทำการเทคอนกรีตทันทีเพื่อไม่ให้รูเจาะอ่อนตัวหรือกระทบความชื้นในอากาศ นานเกินไปจนสูญเสียแรงเฉือนได้ การเทคอนกรีตจะเทผ่านกรวย ปลายกรวยเป็นท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15 ซม. ยาว 3.0 เมตร คอนกรีตจะหล่นลงตรง ๆ โดยไม่ปะทะผนังรูเจาะหรือกรงเหล็กจะช่วยลดการแยกตัวของคอนกรีต

            6.3 วิธีทำให้คอนกรีตแน่นมากขึ้น
เมื่อทำการเทคอนกรีตถึงระดับ -5.00 ถึง -3.00 จากระดับดินปัจจุบันจะทำการอัดลมเพื่อให้คอนกรีตอัดตัวแน่นมากขึ้น

 

            ขั้นตอนที่ 7  การถอดปลอกเหล็กชั่วคราว

จะต้องเทคอนกรีตให้มีระดับสูงกว่าปลอกเหล็กชั่วคราวพอสมควร จึงจะเริ่มถอดปลอกเหล็กขึ้น โดยปกติขณะถอดปลอกเหล็กจะต้องให้มีคอนกรีตอยู่ภายในปลอกเหล็กไม่น้อยกว่า 3 เมตร เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ชั้นดินอ่อนบีบตัว
ทำให้ขนาดเสาเข็มเจาะเปลี่ยนไปและเป็นการป้องกันมิให้น้ำใต้ดินไหลซึมเข้ามา ในรูเจาะก่อนที่จะถอดปลอกเหล็กชั่วคราวออกหมด   จะต้องเติมคอนกรีตให้มีประมาณเพียงพอและเผื่อคอนกรีตให้สูงกว่าระดับที่ต้อง  การประมาณ  30-75 ซม. ในกรณีที่หัวเสาเข็มอยู่ต่ำจากระดับดินปัจจุบัน เพื่อป้องกันมิให้หัวเข็มที่ระดับที่ต้องการสกปรกเนื่องจากวัสดุหรือเศษดิน ร่วงหล่นลงไป ภายหลังการถอดปลอกเหล็กออกหมดแล้ว


            ขั้นตอนที่ 8  การบันทึกรายงานการจัดทำเสาเข็ม

บันทึก ณ ที่ สนง. ก่อสร้างที่ปฏิบัติงานเสาเข็ม
8.1 หมายเลขกำกับเสาเข็ม
8.2 วันที่เจาะ เวลาเริ่มเจาะ เวลาแล้วเสร็จในการเจาะ เวลาเริ่มเทคอนกรีต เวลาถอนท่อเหล็กชั่วคราวจนแล้วเสร็จ
8.3 ระดับดิน ระดับตัดหัวเข็ม ระดับความลึกปลายเสาเข็ม ความยาวของท่อเหล็ก ปลอกชั่วคราว
8.4 ความคลาดเคลื่อนของศูนย์เข็ม และระยะเบี่ยงเบนของเสาเข็มในแนวดิ่ง
8.5 รายละเอียดของชั้นดิน
8.6 รายละเอียดเหล็กเสริมในเสาเข็ม และปริมาณคอนกรีต
8.7 อุปสรรที่เกิดขึ้น หรือเหตุผิดปกติต่าง ๆ
8.8 ค่าวินิจฉัย สั่งการ ของเจ้าหน้าที่อาคาร , วิศวกรผู้ออกแบบ , ผู้ควบคุมงานของเสาเข็มต้นนั้น ๆ

 

 

โพสต์เมื่อ :
2559-08-08
โดย :
แก้ไขล่าสุดเมื่อ :
2559-12-07
โดย :
 4357
ผู้เข้าชม
คะแนน
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์